Sunday, July 4, 2010

ตักกศิลา มหานครแห่งทิศาปาโมกข์

"ตักกศิลา" สถานที่เก่าแก่ทางพุทธศาสนา ถือเป็นเมืองมหาวิทยาลัยอันยิ่งใหญ่ของโลกที่มีมาก่อนพุทธกาล

เป็นศูนย์กลางการศึกษา มีสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ สั่งสอนศิลปวิทยาต่างๆ แก่ศิษย์ที่เดินทางมาเล่าเรียนจากทุกถิ่นในชมพูทวีป

บุคคลสำคัญและมีชื่อเสียงหลายท่านในสมัยพุทธกาลสำเร็จการศึกษาจากนครตักศิลา เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศ(พระเจ้าแผ่นดินแคว้นโกศลครองราชสมบัติอยู่ที่พระนครสาวัต ถี) เจ้ามหาลิลิจฉวี พันธุลเสนาบดี หมอชีวกโกมารภัจจ์(แพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า) และองคุลีมาล(มหาโจรผู้กลับใจเป็นพระอรหันต์มหาสาวก)

ชื่ออันคุ้นหูชาวไทยของ "ตักกสิลา" ทำให้ใครๆ หลายคนมักนึกว่าเมืองนี้อยู่ในอินเดีย แต่ใครจะคิดว่าเมืองนี้แท้ที่จริงแล้วตั้งอยู่ในอาณาเขตของประเทศอิสลามอย่างปากีสถาน

มองทางด้านเศรษฐกิจการปกครอง ปากีสถานเป็นประเทศในกลุ่มเอเชียใต้ที่ดูจะมีภาษีดีกว่าใครทั้งหมด ถ้าเทียบกับอินเดียที่เป็นเสมือนประเทศแม่และบังกลาเทศที่เคยรวมเป็นชาติ เดียวกัน แล้วแยกออกไปเป็นอีกประเทศหนึ่งต่างหากในภายหลัง

ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองนั้นดูดีกว่าอีก 2 ประเทศ อาจเป็นเพราะปากีสถานมีจำนวนประชากรน้อยกว่าอินเดีย ทำให้สามารถจัดการได้ง่ายกว่า ขณะเดียวกันก็มีภูมิประเทศตลอดจนภูมิอากาศเหนือกว่าบังกลาเทศ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มมีปัญหาน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ

เมืองตักกศิลานั้นตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงอิสลามาบัด เมืองหลวงประเทศปากีสถาน ห่างจากอิสลามาบัดประมาณ 30 กิโลเมตร ในอดีตตักกศิลา จัดว่าเป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองทั้งด้านการศึกษาและวัฒนธรรม แม้จะต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของอำนาจอันหลากหลาย ที่ต่างก็ล้วนพากันหลงใหลในมนต์เสน่ห์ของตักกสิลาด้วยกันทั้งสิ้น

ตักกสิ ลารุ่งเรืองถึงขีดสุดภายใต้การปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราช(Asoka the Great) ในช่วง 300 ปี หลังคริสต์กาล กษัตริย์ผู้อุทิศพระองค์เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาพระองค์นี้ได้สร้างนครตักกศิลาจนมีกิตติศัพท์ขจรขจายไปทั่วทุกสารทิศในเพลานั้น

แม้ตักกศิลาจะต้องตกอยู่ภายใต้อารยธรรมอีกมากมายต่อๆมา เช่น อารยธรรมกรีก โดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช และอารยธรรมฮินดูอีกหลายราชวงศ์ แต่ความเจิดจำรัสของพุทธศาสนาก็ยังทรงพลานุภาพคู่กับตักกศิลาไม่เหือดหาย

ดังหลักฐาน เช่น ซากสถูปเจดีย์ วัดวาอาราม แลปฏิมากรรม แบบศิลปะคันธาระ(Gandhara) จำนวนมาก อันเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของผู้คนจนรัฐบาลปากีสถานได้อนุรักษ์ไว้เป็น โบราณสถานภายใต้การสนับสนุนขององค์การ UNESCO

นอกจากซากเมืองโบราณแล้ว ที่อันควรย่างกรายเข้าไปอีกแห่งหนึ่งก็คือ "พิพิธภัณฑ์ตักกศิลา" ซึ่งได้เก็บรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับความเป็นอยู่และภูมิปัญญาของชาวตักกสิลา ยุคต่างๆ เอาไว้อย่างเป็นระบบระเบียบน่าสนใจยิ่ง

ข้าวของเครื่องใช้ รูปปั้นอันล้ำค่าจำนวนมาก(รวมทั้งพระพุทธรูป) แม้ส่วนใหญ่จะถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แต่ก็มีไม่น้อยที่หลุดรอดไปตั้งแสดงอยู่ตามพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ทั่วโลกทั้งใน อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ฯลฯ

ตักกศืลาถือกำเนิดมาแต่ดึกดำบรรพ์ก่อนพุทธกาล โดยเป็นนครหลวงแห่งแคว้นคันธาระ หนึ่งในบรรดา 16 แคว้นของชมพูทวีป ที่สถาปนาขึ้นโดยชาวอารยัน ภายหลังมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำแคว้น และรุ่งเรืองอยู่นานนับพันปี

ในคริสต์ศตวรรษที่ 5 (ราว พ.ศ. 1050) ชนชาติฮั่น(Huns) ได้ยกทัพมาตีอินเดียและทำลายพระพุทธศาสนา ทำให้เมืองตักกศิลาพินาศสาบสูญแต่ บัดนั้น

กระนั้นทุกวันนี้ ไม่เพียงตักกศิลาจะยังคงเหลือร่อยรอยหลักฐานให้เห็นถึง ความเป็นเมืองอันยิ่งใหญ่ในครั้งหนึ่ง ทั้งได้รับการบูรณะจากรัฐบาลปากีสถาน อีกทั้งองค์การยูเนสโกก็ยกย่องให้เป็นหนึ่งในมรดกโลก

คงจะคุ้มค่าไม่น้อย หากสักครั้งหนึ่งในชีวิตจะได้เดินทางไปเหยียบแดนดินอันเคยรุ่งเรืองด้วย ศิลปวิทยาต่างๆ เป็นสถานที่มีชื่อเสียงที่สุดในการศึกษายุคโบราณ เต็มไปด้วยสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ สั่งสอนศิลปวิทยาแก่ศิษย์ ซึ่งเดินทางมาเล่าเรียนจากทั่วทุกสารทิศของชมพูทวีป

นครแห่งอดีตกาลที่ชื่อว่า ตักกศิลา!

No comments:

Post a Comment