Thursday, August 6, 2009

ปราสาทหินพนมรุ้ง

ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นเทวสถานของศาสนาฮินดู(พราหมณ์) ไศวนิกาย นับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด พระศิวะหรือพระอิศวรทรงมีตาที่สามอยู่ที่พระนลาฏ(หน้าผาก) เป็นเทพผู้ทำลายและสร้างโลกซึ่งความเป็นไปของโลกควบคุมผ่านการฟ้อนรำของพะองค์ หากรำด้วยในจังหวะที่เหมาะสมโลกจะสงบสุข และจังหวะรุนแรง กริ้วกราดโลกจะเข้าสู่กาลวิบัติ ฉะนั้นศาสนิกชนจึงบูชาและอ้อนวอนให้พระองค์ทรงพอพระทัย ในภาพสลักบนหน้าบันเรียกว่า พระศิวนาฏราช เป็นเหตุการณ์ที่พระศิวะทรงฟ้อนรำบนเขาไกรลาสหรือเขาพระสุเมรุ โดยมีเทพเขาชมและบรรเลงเพลงได้แก่ พระวิษณุ พระพรหม พระพิฆเนศ(บุตรพระศิวะ) เป็นต้น


อีกนิกายหนึ่งของศาสนาฮินดู คือ ไวษณพนิกาย นับถือพระวิษณุหรือพระนารายณ์เป็นเทพสูงสุด ดังเช่นนครวัด พระนารายณ์ มี 4 กร ปกติถือจักร สังข์ คทาและดอกบัว เป็นเทพผู้คุ้มครองโลก พระองค์อวตารลงมาช่วยโลกมนุษย์ 10 ครั้ง สำหรับภาพทับหลัง ชื่อว่า นารายณ์บรรทมสินธุ์ หรือ วิษณุอนันตศายินปัทมนาภิน (ราวพ.ศ.2504-08 ถูกลักไปและกรมศิลปากรพร้อมคนไทยหลายคนได้ทวงคืนสำเร็จเมื่อ 10 พ.ย.2531 ) ในภาพสลักแสดงอิริยาบถขณะพระนารายณ์กำลังบรรทมเหนือพญานาคราชซ้อนทับมังกรอยู่ในเกษียรสมุทรหรือทะเลน้ำนม โดยมีพระพรหม(4 พักตร์ 4 กร)ประทับอยู่เหนือดอกบัวที่ผุดขึ้นมาจากพระนาภีหรือสะดือ ซึ่งแสดงถึงเหตุการณ์ที่โลกพังทลายจมลงใต้สมุทร(โดยพระศิวะ) และพระนารายณ์เข้าบรรทมในมหาสมุทรบังเกิดดอกบัวงอกขึ้นมาโดยมีพระพรหมเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งบนโลกกัลป์ใหม่ และพระนารายณ์จะอวตารลงไปช่วยมนุษย์ต่อไป ภาพดังกล่าวสอดคล้องกับภาพพระศิวนาฏราช สื่อให้เห็นวัฎจักร การเกิด การดับ การควบคุมการเป็นไปของโลก โดยเทพเจ้าทั้งสาม "พระพรหมสร้าง พระนารายณ์รักษา พระศิวะทำลาย"

การเข้าสักการะต้องผ่านทางดำเนินที่ปูด้วยศิลาแลงระยะทางรวม 160 เมตร ทั้งสองข้างทางประดับด้วยเสานางเรียงหรือเสานางจรัล ที่มีลักษณะคล้ายดอกบัวตูม ก่อนขึ้นบันไดชันจำนวน 52 ขั้น(เท่ากับจำนวนสัปดาห์ใน 1 ปี) จะพบสะพานนาคราช สร้างตามความเชื่อที่ว่านาคเป็นผู้ให้น้ำและสร้างรุ้งซึ่งใช้เป็นทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์และสวรรค์

ศิวลึงค์ใช้เป็นรูปเคารพแทนองค์พระศิวะ รูปทรงเลียนแบบเครื่องเพศชายตั้งประกอบกันกับแท่นฐานโยนิโทรณะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนสตรีเพศอีกทั้งยังเป็นรูปเคารพนางอุมาเทวี(ชายาพระศิวะ) สองสิ่งเมื่ออยู่ร่วมกันถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรือง อุดมสมบูรณ์ จักรวาลเกิดความสมดุล
ศิวลึงค์ประดิษฐานอยู่กึ่งกลางห้องครรภคฤหะหรือปราสาทประธาน(เปรียบเสมือนพระศิวะประทับอยู่ที่แกนกลางจักรวาลหรือยอดเขาไกรลาส) ครรภคฤหะมีแผนผังเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส แสงเข้าได้น้อย ผนังห้องหนาหนักเงียบสงบ ภายในห้องเต็มไปด้วยระเบียบอันมั่นคง เปรียบเสมือนถ้ำที่ใช้นั่งสมาธิบำเพ็ญพรต

การเซ่นบวงสรวงพระศิวะ พราหมณ์จะเป็นผู้ทำพิธีโดยรดน้ำหรือของเหลวลงบนศิวลึงค์โดยไหลผ่านลงร่อง โยนีและไหลไปตามท่อโสมสูตรกลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ให้ศาสนิกชนรองรับไป อุปโภคบริโภคเพื่อเป็นศิริมงคลและรักษาโรคภัยไข้เจ็บหรือผลผลิตทางการเกษตร งอกเงยอุดมสมบูรณ์ นอกจากน้ำหรือของเหลวที่ใช้บวงสรวงยังมี ข้าว เครื่องเทศ หมู แพะ วัว งา ถั่ว เกลือ

ภาพสลักลายดอกบัว 8 กลีบสื่อถึงเทพประจำทิศทั้งแปดซึ่งมีหน้าที่พิทักษ์รักษาตามทิศต่าง ๆ รอบจักรวาล แสดงถึงขอบเขตจักรวาล เทพดังกล่าวได้แก่ พระอินทร์ทรงช้าง/ทิศตะวันออก พระวรุณทรงหงส์/ทิศตะวันตก ท้าวกุเวรทรงสิงห์/ทิศเหนือ พระขันทกุมาร(บุตรพระศิวะ)ทรงนกยูง/ทิศใต้ พระจันทร์ทรงรถเทียมม้าหรือพระอีสานทรงโค/ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พระอัคนีทรงระมาด(แรด)/ทิศตะวันออกเฉียงใต้ พระพายทรงม้า/ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พระนิรฤติทรงรากษส/ทิศตะวันตกเฉียงใต้ พระพรหมทรงหงส์/ทิศเบื้องบน พระยมทรงกระบือ/ทิศเบื้องล่าง

สิงห์ เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ผู้มีอำนาจและปกปักทางขึ้นเขาพระสุเมรุ เช่นเดียวกับหงส์และครุฑ สำหรับผู้พิทักษ์รักษาประตูทางเข้าห้องครรภคฤหะ เรียกว่า ทวารบาล

นอกจากนับถือศิวลึงค์แล้วศาสนิกชนยังนับถือ โคนนทิ พาหนะของพระศิวะ เป็นโคศักดิ์สิทธิ์ผู้ให้น้ำนมแก่มนุษย์
ภาพสลักเล่าเรื่องอวตารที่ 7 ของพระนารายณ์ (ปลา เต่า หมูป่า นรสิงห์ คนแคระ ปรศุราม พระราม พระพุทธเจ้า พระกฤษณะ และกัลกี) ตอนพระรามและพระลักษมณ์ถูกศรนาคบาศรัด ตามอุบายของทศกัณฐ์
ระเบียงคดเป็นอาคารยาวมุงหลังคาสร้างล้อมปราสาทประธานไม่สามารถเดินทะลุถึงกัน แต่แบ่งเป็นห้อง ๆ ใช้ทำพิธีกรรมและเก็บสิ่งของสำคัญ โดยหินทรายสีชมพู(มีแร่ควอร์ทซ์มาก)ที่ใช้สร้างระเบียงคดและปราสาทนี้อาจถูกนำมาจากเขากลอย อ.บ้านกรวด อยู่ห่างราว 20 กิโลเมตร ขนย้ายโดยฝังหมุดเหล็กแล้วใช้เชือกมัดและลากมา
ปราสาทพนมรุ้งถูกวางผังให้หันไปทางทิศตะวันออกโดยมีประตูต่าง ๆ วางตำแหน่งให้ตรงกัน เพื่อให้แสงอาทิตย์สาดส่องมากระทบศิวลึงค์เป็นการเพิ่มพลังให้แก่ศิวลึงค์ นักวิชาการคาดว่าช่างโบราณต้องการให้ปราสาทหันไปทางทิศตะวันออกพอดีเพื่อให้เห็นดวงอาทิตย์ขึ้นและตกผ่าน 15 ประตูภายในวันเดียวกันแต่มีข้อผิดพลาดบางอย่างทำให้ปราสาทเบี่ยงไปทางเหนือ 5.5 องศา ทำให้ใน 1 ปีดวงอาทิตย์ลอดช่องประตูทั้ง 15 ช่องจำนวน 4 ครั้ง ได้แก่ พระอาทิตย์ขึ้น 2 ครั้ง ราวเดือนเมษายนและกันยายน พระอาทิตย์ตก 2 ครั้งราวเดือนมีนาคมและตุลาคม


เดี๋ยวถ้าว่างๆจะมาใส่ข้อมูลให้แน่นเลย

No comments:

Post a Comment