Wednesday, August 5, 2009

เจดีย์

เจดีย์ (ภาษาบาลี : เจติย , ภาษาสันสกฤต : ไจติยะ) หรือ สถูป (ภาษาบาลี : ถูป , ภาษาสันสกฤต : สฺตูป) เป็นสิ่งก่อสร้างในพุทธศาสนา พบได้ทั่วไปในอนุทวีปอินเดียและเอเชีย

เจดีย์ หมายถึงสิ่งก่อสร้างหรือสิ่งของที่สร้างขึ้น เพื่อเป็นที่เคารพบูชาระลึกถึง สถูป หมายถึงสิ่งก่อสร้างเหนือหลุมฝังศพ หรือสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิธาตุของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อให้ลูกหลานและผู้เคารพนับถือได้สักการบูชา ถือกันว่ามีบุคคลที่ควรบรรจุอัฐิธาตุไว้ในสถูปเพื่อเป็นที่สักการะของมหาชน อยู่เพียง 4 พวก เรียกว่า ถูปารหบุคคล ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก และพระเจ้าจักรพรรดิ์

สำหรับประเทศไทย คำว่า สถูป และ เจดีย์ เรามักรวมเรียกว่า “สถูปเจดีย์” หรือ “เจดีย์” มีความหมายเฉพาะ ถึงสิ่งก่อสร้างในพุทธศาสนาที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิ หรือเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป หรือเพื่อเป็นที่ระลึก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ ในสมัยหลังลงมาคงมีการสร้างสถานที่เพื่อบรรจุอัฐิธาตุ และเพื่อเคารพบูชาระลึกถึงพร้อมกันไปด้วย

ประวัติ
คำว่า เจดีย์ นั้นเปลี่ยนพจน์ด้วยการลงวิภัตติปัจจัยมาจากคำว่า จิต (ภาษาบาลี : จิตฺต , ภาษาสันสกฤต : จิตฺร) หมายถึง จิตใจหรืออนุสรณ์เตือนใจ โดยคำว่า “เจติยะ” (เขียนในรูปภาษาบาลี) หรือ “ไจติยะ” (เขียนในรูปภาษาสันสกฤต) ส่วนคำว่า สฺตูป นั้นมาจากภาษาสันสกฤต หมายถึง เนินดิน (ภาษาบาลีใช้คำว่า “ถูป” แปลว่ามูลดิน (เนินดิน) เช่นกัน) แต่ในบางประเทศใช้ศัพท์แตกต่างกันไป เช่น ในศรีลังกา เรียกว่า "ทโคพ" ("ธาตุครรภ" สมาสจากคำว่า ธาตุ (กระดูก, เถ้ากระดูก) + ครฺภ (ห้อง , ท้อง , ที่เก็บ : ป. คพฺภ) ในภาษาสันสกฤต เขียนสลับเป็นว่า "ครรภธาตุ" ก็ได้) หรือ "โตเป" ในภาษาฮินดี มาจากคำว่า สฺตูป ในภาษาสันสกฤตนั่นเอง

สถูปของอินเดียสมัยโบราณ เดิมเป็นการพูนดินขึ้นเป็นโคกตรงที่ฝังอัฐิธาตุ แล้วลงเขื่อนรอบกันดินพัง มีการปักร่มหรือฉัตรไว้บนโคกเพื่อเป็นเกียรติยศ ต่อมามีการเติมแต่งสถูปให้งดงามและถาวรยิ่งขึ้น เช่นสร้างฐาน ลานทักษิณ มีบัลลังค์หรือแท่นฐานเหนือองค์สถูป ตกแต่งยอดสถูปเป็นรูปฉัตร และประดับประดาลวดลายต่างๆ ต่อมาเมื่อสังคมพัฒนาขึ้น เจดีย์ก็พัฒนาตาม บุคคลที่มีบรรดาศักดิ์สูง กองดินจะพูนสูงขึ้น และเปลี่ยนวัสดุจากดิน เป็น อิฐ หิน ศิลาแลง ปูน อันแล้วแต่จะหาได้ในพื้นที่ ซึ่งลักษณะสถูปแบบนี้ ได้ส่งอิทธิพลมายังดินแดนอาณาจักรโบราณในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งดินแดนประเทศไทย เมื่อพระพุทธศาสนาได้แพร่เข้ามาเป็นที่นับถือของประชาชน

ประเภทของเจดีย์ หรือพุทธเจดีย์

พุทธเจดีย์ คือ สิ่งซึ่งสร้างขึ้นด้วยเจตนาเพื่อระลึกถึงและอุทิศต่อพระพุทธเจ้า และพระรัตนตรัย

พุทธเจดีย์ มิได้เจาะจงเฉพาะแต่ เจดีย์ ที่เป็นถาวรวัตถุ สิ่งก่อสร้างเท่านั้น แต่รวมถึง พระพุทธรูป พระไตรปิฎก สังเวชนียสถาน ด้วย

ในตำราพระพุทธศาสนากำหนดว่าเจดีย์ มีด้วยกัน 4 ประเภท คือ

1. ธาตุเจดีย์ หมายถึง สิ่งก่อสร้างที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ของพระมหากษัตริย์จักรพรรดิ
2. บริโภคเจดีย์ หมายถึง สถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ใช้ เป็นที่ระลึกถึงพระองค์เมื่อเสด็จปรินิพพานแล้ว ได้แก่ สังเวชนียสถาน 4 แห่ง คือสวนลุมพินีวันที่ประสูติ อุรุเวลาเสนานิคม(พุทธคยา) ที่ตรัสรู้ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน(สารนาถ) ที่แสดงปฐมเทศนา และสาลวโนทยาน เมืองกุสินาราที่ปรินิพพาน ต่อมาได้เพิ่มที่แสดงปาฏิหาริย์อีก 4 แห่ง คือเมืองสังกัสที่เสด็จลงจากดาวดึงส์ เมืองสาวัตตถีที่ทำยมกปาฏิหาริย์ เมืองราชคฤห์ที่ทรมาณช้างนาฬาคิรี และเมืองเวสาลีที่ทรมาณพญาวานร
3. ธรรมเจดีย์ หมายถึงพระธรรม คัมภีร์ในพุทธศาสนา เป็นสิ่งแทนองค์พระพุทธเจ้า ต่อมาเขียนลงเป็นตัวอักษรประดิษฐานไว้เพื่อบูชา
4. อุเทสิกเจดีย์ หมายถึง สถานที่หรือสิ่งของที่สร้างขึ้นโดยเจตนาอุทิศต่อพระพุทธเจ้า ไม่กำหนดว่าจะต้องทำเป็นอย่างไร เช่น พระพิมพ์ พระพุทธรูป ธรรมจักร บัลลังก์ เจดีย์ เป็นต้น

ลักษณะของเจดีย์

เจดีย์ทรงโอคว่ำ
เจดีย์ทรงโอคว่ำ หรือเจดีย์แบบสาญจี เป็นเจดีย์รูปแบบแรก ๆ ของพุทธศาสนา มีองค์ประกอบพื้นฐานครบถ้วน คือ

1. ฐาน (บางแห่งอาจไม่มี) เพื่อยกระดับว่า เจดีย์นี้สูงศักดิ์กว่าหลุมศพธรรมดา
2. เรือนธาตุ บางแห่งทึบตัน บางแห่งกลวงเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป รูปเคารพ หรือบรรจุสิ่งของ
3. บัลลังก์ แสดงถึงวรรณะกษัตริย์ (พระพุทธเจ้าเกิดในวรรณะกษัตริย์)
4. ฉัตร (บางแห่งอาจไม่มี) เป็นเครื่องประดับบารมี







เจดีย์ทรงลังกา แบบสุโขทัย
เมื่อพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์ ได้เข้ามาประดิษฐานในกรุงสุโขทัย จึงได้มีการสร้างเจดีย์ตามวัฒนธรรมพระพุทธศาสนา แต่ได้มีการประดับตกแต่ง ตามแบบของสุโขทัย โดยยังมีองค์ประกอบสำคัญครบถ้วน และมีองค์ประกอบอื่น ๆ เพิ่มเข้ามา

1. ฐานเขียง ฐานชั้นล่างสุด ยกพื้นเจดีย์ให้สูงกว่าพื้นดิน
2. ฐานปัทม์ หรือฐานบัว (ปทุม) แสดงถึงดอกบัวที่รองรับพระพุทธเจ้าในทุกอิริยาบทของพระพุทธองค์
3. บัวถลา เป็นลักษณะที่รับมาจากลังกาแต่เอาชั้นบัวหงายออก
4. บัวปากระฆัง เป็นฐานบัวชั้นบน
5. องค์ระฆัง หรือ เรือนธาตุ บรรจุพระพุทธรูป หรือพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระบรมอัฐิ และพระอัฐิ
6. บัลลังก์ คงความหมายเดิม
7. ก้านฉัตร เป็นก้านของฉัตร (ตามความหมายเดิม)
8. บัวฝาละมี บัวคว่ำด้านบน กางกั้นฉัตรให้เรือนธาตุ
9. ปล้องไฉน เปรียบเสมือนตัวฉัตร (ตามความหมายเดิม)
10. ปลียอด ชี้ขึ้นฟ้า เส้นทางสู่พระนิพพาน
11. หยาดน้ำค้าง หมายถึงรัตนะ

เจดีย์ทรงลังกา แบบอยุธยา
ในสมัยอยุธยา พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น เจดีย์เองก็มีการพัฒนาการขึ้น และมีองค์ประกอบอื่น ๆ เพิ่มเข้ามา รวมถึงเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบบางอย่างให้เข้ากับวัฒนธรรม โดยรวมมีความหมายเดิม ยกเว้น
เสาหาน สร้างล้อมรอบ ก้านฉัตร แทนของเดิมที่ใช้ผ้าหรือโลหะฉลุ ซึ่งกางกั้นลงมาจากบัวฝาละมี

No comments:

Post a Comment